ภาวะกระดูกสันหลังคด คือ ความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลังทั้ง 3 มิติ (1) คือการคดเอียงของกระดูกสันหลังในแนวด้านซ้ายและด้านขวา การบิดหมุน และการลดลงของการโก่งหรือแอ่นของกระดูกสันหลัง (2)
ภาวะกระดูกสันหลังคดมี 2 ประเภท คือ
- กระดูกสันหลังคดแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูก สามารถเกิดได้จากพฤติกรรมการทรงท่าที่ผิดปกติ, กลไกการทรงท่าอัตโนมัติ (postural reflex mechanism) ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง, ความยาวขาไม่เท่ากัน, กล้ามเนื้อเกร็งตัว
- กระดูกสันหลังคดที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกและการยึดรั้งของเนื้อเยื่ออ่อน (3)
กระดูกสันหลังปกติ
ภาวะกระดูกสันหลังคด
ประเภทของการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคด สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ (3)
- กระดูกสันหลังคดแบบทราบสาเหตุ คือ
- โรคทางพันธุกรรม เช่น มาร์แฟนซินโดรม
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy)
- กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic scoliosis) สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ดังนี้
- วัยทารก (แรกเกิด – 2 ปี)
- วัยเด็ก (3-10 ปี)
- วัยรุ่น (10-16 ปี)
- ผู้ใหญ่ > 18 ปี
ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในช่วงวัยรุ่น (adolescent idiopathic scoliosis) ในช่วงอายุ 10-16 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด (pubertal growth spurt) (4) เป็นช่วงที่กระดูกสันหลังเกิดการสร้างกระดูกในแนวยาวอย่างรวดเร็วมากกว่าการสร้างกระดูกในแนวกว้างร่วมกับการเจริญของกระดูกแบบไม่สมมาตร จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคด การคดของกระดูกสันหลังจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติจนกระทั่งกระดูกมีการเจริญเติบโตเต็มที่ (5) สังเกตได้จากการมีประจำเดือน การตรวจการเจริญของกระดูกบริเวณกระดูกเชิงกรานจากภาพถ่ายรังสี (6) ขนาดมุมของแนวกระดูกสันหลังสามารถเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต (7)
ข้อจำกัดในการทำกิจกรรมทางกายอันเนื่องมาจากภาวะกระดูกสันหลังคด ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ และปัญหาในการเข้าร่วมทางสังคม กระดูกสันหลังคดที่มีองศาการคดที่มาก อาจส่งผลถึงการจำกัดการทำงานของระบบหายใจและระบบหัวใจได้ (4)
การประเมินด้วยตนเองเบื้องต้น
- สามารถสังเกตได้ด้วยสายตาจะพบการบิดเอียงของลำตัว ความไม่สมมาตรของระดับหัวไหล่ ระดับสะบัก หรือระดับสะโพกทั้ง 2 ข้าง
- การตรวจร่างกายด้วยการก้มหลัง (forward bend test) โดยการยืน ปลายเท้าตรงกัน จากนั้นค่อย ๆ ก้ม พยายามยืมให้มือแตะพื้น ผู้ตรวจยืนด้านหลังสังเกตการนูนของหลังที่ไม่สมมาตรกัน ถ้าพบหลังฝั่งใดฝั่งหนึ่งนูนขึ้นมาแสดงว่ามีบิดหมุนของกระดูกสันหลัง และควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการถ่ายภาพรังสีเพิ่มเติม (5)
การตรวจประเมินทางการแพทย์
ถ่ายภาพรังสีในท่ายืน วัดมุมเอียงของแนวกระดูกสันหลังด้านซ้าย – ขวา อย่างน้อย 10 องศา จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคด (2),(8)
การรักษา เลือกวิธีรักษาจากการประเมินองศาการคดของกระดูกสันหลัง ระยะการเจริญเติบโตของกระดูก และอายุ (5) การรักษากระดูกสันหลังคดมีดังนี้
- รักษาโดยไม่ผ่าตัด (5), (6)
- การสังเกตอาการ สำหรับผู้ที่มีองศาการคดน้อยกว่า 20 องศา ควรได้รับกายถ่ายภาพรังสีทุก ๆ 6 เดือน ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการร่วมกับการออกกำลังกายได้
- การใส่ชุดเกราะ ในผู้ที่มีองศาการคด 25–40 องศา และกระดูกมีการเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์และนักกายอุปกรณ์เพิ่มเติม
- การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยวิธีการออกกำลังกาย การปรับการทรงท่า
- รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อปรับโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ในผู้ที่มีองศาการคดมากกว่า 40 องศา ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์เพิ่มเติม
เป้าหมายของการรักษา (8)
- ชะลอการเพิ่มขององศาการคดหรือป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น
- พัฒนาความสามารถในการใช้งานของร่างกาย
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกระดูกสันหลังคด เช่น ปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, ปัญหาทางระบบหายใจ หรือปัญหาทางระบบหัวใจและหลอดเลือด
การรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดมีหลากหลายวิธี อาจได้รับการรักษามากกว่า 1 วิธีเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและได้รับการรักษาที่เหมาะสมในกลุ่มที่องศาการคดน้อยจะสามารถช่วยหยุดหรือพัฒนาองศาของโครงสร้างกระดูกสันหลังก่อนการเจริญเติบโตเต็มที่ได้และจะส่งผลดีในระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (5)
เรียบเรียงโดย กภ.อาภาณัฐ ผลกมล
เอกสารอ้างอิง
- Schlösser TP, van der Heijden GJ, Versteeg AL, Castelein RM. How ‘idiopathic’is adolescent idiopathic scoliosis? A systematic review on associated abnormalities. PloS one. 2014;9(5).
- Zhang H, Guo C, Tang M, Liu S, Li J, Guo Q, Chen L, Zhu Y, Zhao S. Prevalence of scoliosis among primary and middle school students in Mainland China: a systematic review and meta-analysis. Spine. 2015;40(1):41-9.
- Shakil H, Iqbal ZA, Al-Ghadir AH. Scoliosis: review of types of curves, etiological theories and conservative treatment. J Back Musculoskelet Rehabil. 2014;27(2):111-5.
- Noshchenko A, Hoffecker L, Lindley EM, Burger EL, Cain CM, Patel VV, Bradford AP. Predictors of spine deformity progression in adolescent idiopathic scoliosis: A systematic review with meta-analysis. World J Orthop. 2015;6(7):537.
- Grossman DC, Curry SJ, Owens DK, Barry MJ, Davidson KW, Doubeni CA, et al. Screening for adolescent idiopathic scoliosis:US preventive services task force recommendation statement. JAMA. 2018;319(2):165-72.
- Horne JP, Flannery R, Usman S.Adolescent idiopathic scoliosis:diagnosis and management. Aa Fam Physician. 2014;89(3):193-8.
- Weinstein SL, Dolan LA, Cheng JC, Danielsson A, Morcuende JA. Adolescent idiopathic scoliosis. The Lancet. 2008;371(9623):1527-37.
- Weiss HR, Schroth CL, Moramamarco M. Schroth therapy advancements in conservative scoliosis treatment. 3rd ed. Saarbrücken: Lambert academic publishing; 2015:p11-23.