การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior cruciate ligament) พบเจอได้บ่อยในนักกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือสกี (1) อาการที่พบหลังการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าคือ เจ็บหน้าเข่าหรือภายในข้อเข่าเมื่อมีการลงน้ำหนัก บวม และอาจมีความรู้สึกว่าข้อเข่าไม่มั่นคง โดยการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้านั้นสามารถดูได้จากภาพถ่าย MRI ในเบื้องต้นแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสามารถตรวจคัดกรองการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าได้จากการตรวจร่างกายเฉพาะได้แก่ pivot-shift test, Lachman test หรือ anterior drawer test โดยหากมีการขาดของเอ็นจะพบว่ากระดูกหน้าแข้ง (Tibia bone) เคลื่อนมาด้านหน้ามากกว่าเข่าข้างปกติ
ส่วนมากหากมีการฉีกขาดแพทย์มักให้การรักษาโดยการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า เพื่อคงความมั่นคงให้แก่ข้อเข่าและลดความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมในอนาคต (2) หลังเข้ารับการผ่าตัดแล้วนั้น จะใช้เวลาฟื้นตัวจนสามารถกลับไปใช้งานเข่าได้ภายในเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะกลับไปใช้งานหรือเล่นกีฬาได้เหมือนก่อนผ่าตัด เนื่องจากอาจมีภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อเข่าอ่อนแรงหลังการพักการใช้งาน และภาวะข้อเข่าติดตามมาหลังผ่าตัด ดังนั้นภายหลังการผ่าตัดจึงควรได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวและกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและสะโพกให้กลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดเปลี่ยนเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (3,4)
- วันที่ 1-7 หลังผ่าตัด คือช่วงเวลาที่ยังมีการอักเสบจากแผลผ่าตัด มีปวด บวม ต้องทำการลดปวดลดบวมด้วยการประคบน้ำแข็ง ทานยา และพยายามนอนยกขาสูงเพื่อลดอาการบวมที่เข่า และเคลื่อนไหวเคลื่อนย้ายตัวเองด้วยการใช้ไม้ค้ำยัน (Crutches) โดยสามารถลงน้ำหนักลงที่ขาข้างที่ผ่าตัดได้ 50% ของน้ำหนักตัว และควรใส่ผ้าพยุงรัดเข่า (Knee support) ตลอดจนกว่ากล้ามเนื้อขาจะกลับมาพยุงได้ปกติยกเว้นช่วงเวลาที่ออกกำลังกายสามารถถอดออกได้และควรถอดออกทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและของเสียรอบบริเวณเข่า ร่วมกับออกกำลังกายเข่าเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว และเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps muscle), หลังต้นขา (Hamstring muscles), กล้ามเนื้อสะโพก (Hip muscles)
รูปที่ 1 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวมุมงอเข่า โดยการนั่งขอบเก้าอี้ ค่อย ๆ งอเข่าข้างที่ผ่าตัดลงโดยใช้ขาข้างตรงข้ามประคองไว้ กดลงพยายามให้ถึงมุม 90 องศาหรือเท่าที่ทนไหว
รูปที่ 2 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวมุมเหยียดเข่า โดยนอนเหยียดขาตรงวางบนผ้าขนหนูที่ม้วนไว้ ออกแรงกดเข่าให้เข่าเหยียดตรงมากที่สุด
รูปที่ 3 การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps muscle) โดยนั่งเหยียดขาตรงเกร็งค้างไว้
รูปที่ 4 การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังต้นขา โดยนอนหงายแล้วค่อยงอเข่าลากส้นเท้าข้างที่ผ่าตัดเข้าหาสะโพกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ (*การออกกำลังกายท่านี้ควรระวังในผู้ป่วยที่ผ่าตัดโดยใช้เอ็นจากกล้ามเนื้อหลังต้นขา)
รูปที่ 5 การออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพก โดยการยืนจับโต๊ะหรือเก้าอี้เหยีดขาตรงแล้วเตะขาไปด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง
- วันที่ 8-10 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันข้างเดียวโดยที่ลงน้ำหนักขาข้างที่ผ่าตัดได้ 50%-75 % ของน้ำหนักตัว ออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเท่าที่ทำได้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงงานที่ใช้การเคลื่อนที่เยอะ
- สัปดาห์ที่ 2 หลังการผ่าตัด เข่าควรงอได้ไม่น้อยกว่า 100–120 องศา เพิ่มการออกกำลังกายเสริมความมั่นคงของข้อเข่าและข้อเท้า และลดการใช้ผ้าพยุงรัดเข่า เริ่มออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานได้หากมุมการงอเข่ามากกว่า 100 องศา
- สัปดาห์ที่ 3–6 หลังการผ่าตัด องศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าควรเท่ากันกับข้างที่ปกติ และออกกำลังกายแบบเพิ่มแรงต้านต่อกล้ามเนื้อข้อเข่า
- สัปดาห์ที่ 6–12 หลังการผ่าตัด ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงพร้อมกับออกกำลังกายเพิ่มความสมดุลของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและข้อเท้า (Balance training) และสามารถเริ่มเดินออกกำลังบนลู่วิ่งแบบไม่มีความชันได้
รูปที่ 6 การออกกำลังกายเพิ่มความสมดุลของกล้ามเนื้อข้อเข่าและข้อเท้า โดยการฝึกยืนบน Balance disc
รูปที่ 7 การฝึกกล้ามเนื้อขาด้วยท่า 1. sumo squad 2. Cross leg lunge 3. Single leg squad
- สัปดาห์ที่ 12–24 หลังการผ่าตัด เริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่งเหยาะ ๆ (Jogging) และเริ่มออกกำลังกายเพิ่มความคล่องตัว หรือออกกำลังกายเสริมประสิทธิภาพร่างกายตามกีฬาที่เล่น
รูปที่ 7 การออกกำลังกายวิ่งสลับทางเลี้ยงบอลเพื่อเสริมความคล่องตัวในนักฟุตบอล
รูปที่ 8 การฝึกเพื่อเสริมความคล่องตัวในนักบาสเกตบอล
- สัปดาห์ที่ 24 (6 เดือน) คือช่วงเวลาที่ควรจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เต็มที่ โดยกำลังกล้ามเนื้อกลับมาไม่ต่ำกว่า 80% สามารถวิ่งลงน้ำหนักขึ้นทางชันและเล่นกีฬารับแรงกระแทกได้เต็มที่
เรียบเรียงโดย กภ. นภวรรณ เพราเพริศภิรมย์
Reference
- Ueno R, Navacchia A, Bates NA, Schilaty ND, Krych AJ, Hewett TE. Analysis of Internal knee forces allows for the prediction of rupture events in a clinically relevant model of anterior cruciate ligament injuries.Orthop J Sports Med. 2020;8(1):1-13.
- Ajuied A, Wong F, Smith C, Norris M, Earnshaw P, Back D, et al. Anterior cruciate ligament injury and radiologic progression of knee osteoarthritis: a systematic review and metaanalysis. Am J Sports Med. 2014;42(9):2242–2252.
- Ira KE. ACL reconstruction rehabilitation protocol. Sports Medicine North Orthopedic Specialty Center. 2017:9-20.
- Cavanaugh JT, Powers M. ACL Rehabilitation Progression: Where Are We Now. Curr Rev Musculoskelet Med. 2017;10:289-296.